Showing posts with label Diecast Toy Car. Show all posts
Showing posts with label Diecast Toy Car. Show all posts

Thursday 18 November 2021

18 พ.ย. วันเกิด MICKEY MOUSE

          Happy Birthday เจ้าหนู Mickey Mouse 18 พ.ย เป็นวันเกิดของเขาครับ หนูฝรั่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งคู่ คู่แรกคือ Mickey Mouse กับ Minnie Mouse คู่ที่สองเป็นคู่หนูกับแมวคือ Tom and Jerry

          Mickey Mouse นั้น ปรากฏบนจอเงินครั้งแรกที่เมือง New York วันที่ 18 ธันวาคม ปี 1928 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง Steamboat Willie ซึ่งถือเป็นวันเกิดของเขาด้วย


          Mickey Mouse ในยุคแรกนั้นมีรูปร่างไม่เหมือนกับในปัจจุบันที่เราคุ้นตา Mickey Mouse ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันนั้นวาดในปี 1939 แน่นอนครับโดย Walt Disney และการพากษ์เสียงของ Mickey ในครั้งแรกนั้นก็พากษ์โดย Walt Disney เช่นเดียวกัน



          ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นเสียงของ Jim MacDonald และผู้พากษ์เสียงในปัจจุบันคือ Wayne Allwine แน่นอนครับไม่ต้องบอกว่า Mickey Mouse นั้นดังแค่ไหนมีสินค้าต่างๆ ที่ผลิตโดยมีภาพทั้ง 2 มิติ 3 มิติ นับพันนับหมื่นรายการ รวมทั้งของเล่นต่างๆ ด้วย


          คู่ของ Mickey Mouse คือ Minnie Mouse ถือกำเนิดขึ้นไม่นานหลังจาก Mickey Mouse โดยเป็นการ์ตูนประกอบ 1 ใน 73 ตัว ที่มี Mickey และ Pluto เป็นดารานำ จนกระทั่งในปี 1986 Disney ก็เปิดตัว Minnie Mouse อย่างเป็นทางการ โดยประกาศให้ปี 1986 เป็นปี Minnie’s Year ผู้ที่พากษ์เสียง Minnie เป็นครั้งแรกคือ Marcellite Garner ส่วนผู้พากษ์ปัจจุบันคือ Russi Taylor



          ส่วนเจ้าหนู Jerry คู่กัดของ Tom ที่มักจะเสียท่าให้กับ Jerry อยู่เสมอ ถือกำเนิดในราวปี 1937 ที่ MGM Studio โดยคู่หู 2 คนคือ Josept Barbera และ Bill Hanna ผู้ซึ่งต่อมาได้ร่วมกันสร้าง Flintstone, Scooby-Doo จนได้ออสการ์ถึง 7 ตัว สงครามระหว่างหนูกับแมวหรือ Tom and Jerry นี้ เป็นการ์ตูนสั้นสร้างขึ้นมากกว่า 200 ตอน มีผุู้วาดต่อๆ กันมาแล้วกว่า 5 คน เช่น Chuck Jones, Fred Quimby ส่วนผู้พากษ์เสียงในยุคแรกๆ คือ Daws Butler และทีมงาน จนทุกวันนี้สถานีโทรทัศน์และสื่อต่างๆ ก็ยังคงเสนอเรื่องราวของหนูคลาสสิคทั้ง 3 ตัว เด็กๆหรือผู้ที่เคยเป็นเด้กก็ยังคงมีความสุขสนุกสนานเมื่อได้ชมการ์ตูนหนูทั้ง 3 ตัวอยู่เสมอ



Josept Barbera & Bill Hanna

          ทีนี้มาว่ากันถึงเรื่องของเล่นและรถเหล็กที่เกี่ยวข้องกับหนูทั้ง 3 ตัวนี้กันครับ ของเล่นในยุคแรกๆ ของหนูทั้ง 3 ตัวน่าจะเป็นพวกตุ๊กตา, ของเล่นไม้ ของเล่นสังกะสี แล้วก็มาถึงยุคของรถเหล็กครับ



          นี่เป็นตุ๊กตาผ้ามิคกี้เมาส์สูง 19 นิ้ว ที่ผลิตขึ้นประมาณปี 1930 ในสหรัฐอเมริกา ราคาสำหรับนักสะสมที่ประมูลไปหลังสุดคือ 7,150 เหรียญสหรัฐ



          นี่เป็นของเล่นสังกะสีไขลาน Mickey Mouse กับรถเข็นดนตรี Hurdy Gurdy และมี Minie Mouse เต้นรำอยู่ข้างบน ผลิตในปี 1931 โดย Disler มีขนาด 20 x 15 ซม. เคยถูกประมูลไปในราคาสูงสุด 13,200 เหรียญสหรัฐ ส่วนที่อยู่คู่กันก็เป็นรถสังกะสีไขลานผลิตในญี่ปุ่นปี 1970 โดย Masudaya

          สำหรับของเล่นของหนู Jerry นั้น ค่อนข้างจะหายากครับ ที่นำมาให้ดูนี้ก็เป็น Music Box สังกะสีของ Tom and Jerry (ไม่มีข้อมูล)



          อีกภาพหนึ่งก็เป็นของเล่นไขลาน Tom and Jerry ผลิตโดย Marx ในปี 1970 ครับ





          ส่วนรถเหล็ก Diecast ของหนูตัวแรกในโลกน่าจะผลิตโดย Corgi ในปี 1971 (ขวามือ) คือ No.1014A Jerry’s Banger ๖ถ้าผู้อ่านท่านใดทราบว่ามีการผลิตรถเหล็กที่มีตัวการ์ตูนหนูก่อนคันนี้เขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็จะดีไม่น้อยครับ) และต่อมา (ซ้ายมือ) ในปี 1980 Corgi ก็ผลิต No.38B Jerry’s Banger ความยาว 7.5 ซม. ทั้งสองคันนี้ผลิตในอังกฤษโดยได้รับอนุญาตจาก MGM ครั




          ส่วนรถเหล็กของ Mickey และ Minnie นั้น Matchbox ผลิตขึ้นในปี 1979 ที่ประเทศฮ่องกง ผลิตขึ้นโดยได้รับอนุญาตจาก Walt Disney



          WD1-A เป็นรถดับเพลิงมี Mickey เป็นคนขับ ความยาว 7.7 ซม. ส่วนอีกคัน WD 4A เป็น Minnie ขับรถเก๋งความยาว 7.4 ซม.

         


 ในภาพนี้เป็นกลุ่มรถเหล็ก Mickey และ Minnie Mouse ที่ผลิตโดย Tomy ในช่วงปี 1990-2003 ผลิตในประเทศจีน โดยทุกคันผลิตโดยได้รับอนุญาตจาก Disney ความยาวประมาณ 6.5 - 7.5 ซม. เป็นรถแบบต่างๆ บางคันก็จำลองมาจากรถจริง เช่น โฟล์กเต่า, รถรุ่นเก่ายุค 1930, รถดับเพลิง, รถญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน, รถตำรวจ พร้อม Figure ที่นั่งบนรถและที่เป็นตัวหุ่นที่แยกออกจากตัวรถ




          โปรดสังเกตว่ารถเหล็กจากการ์ตูนนี้มักจะบอกขนาดเป็นอัตราส่วนไม่ได้เพราะไม่มีของจริงให้อ้างอิง โดยมากมักจะสร้างขึ้นมาจากจินตนาการ

          มีสิ่งที่น่าจะได้จากบทความในตอนนี้ก็คือ ถ้าคุณจะเล่นรถเหล็กจากการ์ตูน ควรจะต้องซื้อรถเหล็กที่ผลิตโดยได้รับอนุญาต (Copyright) จากผุ้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการ์ตูนนั้นๆ เสมอ อาจจะหล่อโลหะหรือพิมพ์ที่ใต้ท้องรถ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องพิมพ์บนกล่อง ครับก็เห็นจะต้องจบเรื่องหนูๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของอีหนูกันไว้เพียงเท่านี้ครับ 

Thursday 12 August 2010

เรื่องธรรมดาของรถ TAXI ที่ไม่ธรรมดา

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม ปี 1999 บริษัทจัดการประมูลที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คือ Sotheby’s Auction House ได้เปิดประมูลรถ Checker Taxi รุ่น Classic A9 คันสุดท้ายที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารชื่อ “Janie” ราคาสูงสุดที่มีผู้ประมูลไปคือ 134,500 ดอลล่าร์สหรัฐ (4,787,500 บาท) ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมครับสำหรับรถแท็กซี่เก่าๆ ที่วิ่งมาแล้ว 994,050 ไมล์ หรือเท่ากับวิ่งรอบโลกมาแล้ว 40 รอบ


เรื่องราวของรถแท็กซี่ Checker สีเหลืองสดที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองนิวยอร์ค สหรํฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1914 Morris Markin ชายหนุ่มผู้อพยพชาวรัสเซีย หนีความยากจนมาจากบ้านเกิด โดยเริ่มต้นได้รับจ้างตัดเย็บกางเกงขายาวโหลให้กับโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้วยความมุมานะ Markin เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เขาได้ซื้อโรงงานประกอบรถแท็กซี่เก่าๆ ซึ่งผลิตแท็กซี่ให้กับบริษัท Checker ซึ่งอยู่ที่เมืองชิคาโก เขาได้เริ่มยุคใหม่ให้กับ Checker Taxi ด้วยการผลิตรถ Checker Model H2 ใช้เครื่องยนต์ BUDA 4 สูบที่เมือง Kalamazoo รัฐมิชิแกน ในปี 1922 ได้ปรับปรุงที่นั่งภายในให้สะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารมากขึ้น ทำให้ได้รับความนิยมใช้บริการมากขึ้น



หลังจากนั้นก็ได้ผลิตรถ Taxi Checker รุ่นอื่นๆ ตามมา คือ Model E ปี 1923-1924


Model F ปี 1925, Model K ปี 1928 ในช่วงเวลานั้น (ค.ศ.1928) เมืองนิวยอร์คซึ่งมีแท็กซี่ให้บริการประมาณ 21,000 คัน จะเป็นแท็กซี่ของ Checker เสียประมาณ 8,000 คันเลยทีเดียว

ปี 1929 Markin ได้ซื้อกิจการรถแท็กซี่ Yellow Cab จากบริษัทรถเช่า Hertz นำมารวมกับ Checker Cab และได้เปลี่ยนสีรถเป็นสีเหลืองและมีแถบคาดเป็นลายหมากรุกสีขาวดำข้างตัวถังตลอดมาจนปิดกิจการ Hertz เป็นบริษัทที่ใช้สีเหลืองสำหรับแท็กซี่เป็นบริษัทแรก โดยได้มีการทำศึกษาวิจัยพบว่า สีเหลืองเป็นสีที่ผู้ใช้บริการจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ปี 1929 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์เป็นเครื่อง BUDA 6 สูบ 61.5 แรงม้า





ปี 1932 เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่อีกครั้งให้มีกำลังเพิ่มขึ้นอีกเป็น 98 แรงม้า และได้ผลิตรุ่น Model T ยาวพิเศษ เปิดประตูได้ทั้งสองข้าง ครั้งแรกใช้สำหรับบรรทุกทีมนักฟุตบอล (American Football) ได้ทั้งทีม ซึ่งได้รับความนิยมมาก เรียกว่า Aerobus

จากนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานของ Checker หยุดผลิตแท็กซี่ชั่วคราว หันไปรับจ้างกองทัพผลิตรถ Jeep Willy สำหรับใช้ในราชการสงคราม


จนกระทั่งสงครามสงบ ก็ได้มีการออกแบบ Checker Taxi ขึ้นอีก 3 แบบคือ Model B, C และ D แต่ทั้งสามแบบไม่ผ่านการทำต้นแบบรถ Taxi Checker ยุคใหม่หลังสงครามที่ผ่านการทำต้นแบบคือรุ่น A2 ซึ่งมีห้องโดยสารสำหรับ 7 ที่นั่ง




ในช่วงปี 1950-1954 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรุ่น A3 ถึง A7 รถยุคนี้จะมีพื้นรถในห้องโดยสารเรียบเสมอกันทั้งหมด ซึ่งทำให้ง่ายต่อการขึ้นลง และการทำความสะอาด มีการเปลี่ยนเป็น Model A8 อีกครั้งในปี 1958 จนมาถึง รุ่นที่ถือได้ว่าเป็นรุ่นคลาสสิคสำหรับรถ Taxi Checker (คันที่ประมูลได้ถึง 4 ล้านกว่านั่นไงครับ)

รุ่นนี้คือ Classic A9 รถ Checker รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ทุกคนที่นิวยอร์คหรือเมืองใหญ่ๆ ในอเมริการู้จักและจำได้ เพราะว่าส่วนหนึ่งนั้น มันเป็นแท็กซี่ที่ใช้ในภาพยนตร์เรื่องดังคือ “Taxi Driver” นั่นเองครับ



A9 เริ่มผลิตในปี 1960 รุ่นนี้มีที่นั่งพิเศษพับได้สำหรับผู้โดยสารคนที่ 8



จากนั้นรุ่น A10 ถึง A12 ก็ถูกปรับปรุงพัฒนาในรายละเอียด แต่ยังคงใช้บอดี้เดิม เช่น เปลี่ยน เครื่องยนต์เป็น 6 สูบ 3.7 ลิตร

A9 มีช่วงการผลิตที่ยาวนานมาก โดยผลิตอยู่ราวๆ 24 ปี โดยมีหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิม ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงกันชนหน้าจากเหล็กชุบโครเมี่ยมวาววับเป็นอลูมิเนียมสีด้าน ในปี 1975 ซึ่งสามารถทนต่อการชนในระดับ 10 ไมล์/ชม. โดยไม่มีอะไรเสียหาย




หลังจาก Markin ผู้พ่อเสียชีวิตลงในปี 1970 David Markin ลูกชาย ก็ได้ดำเนินกิจการ Checker Taxi ต่อมา จนกระทั่งบริษัทได้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 1982 หลังจากนั้นโรงงานของ Checker ได้เปลี่ยนไปผลิตรถพ่วงและโครงรถโดยสารของบริษัท General Motor จนกระทั่งปัจจุบัน
และนี่คือรถต้นแบบ Taxi ที่ออกแบบโดยสถาบัน New York City Cab Design Fuses ผสมผสานรถยุคปี 1950 ของ Checker กับยุคปัจจุบัน



สำหรับรถเหล็กจำลองของ Checker Taxi ก็มีผู้ผลิตหลายราย หลายขนาด เช่น ขนาด 1:34 ของ Hatotoy, 1:43 ของ IXO, 1:18 ของ Sun Star



1:64 ของ Matchbox



1:24 ของ Franklin Mint แม้กระทั่งรถยุคทศวรรษ 30 ของ Checker ก็ยังมีการผลิตออกมาเป็นรถสังกะสีครับ

Friday 6 March 2009

กล่องรถเหล็กราคา 2,500 บาท!!!!


เวลาสองทุ่มยี่สิบนาทีของวันที่ 26 มกราคม 2009 เป็นวันเวลาที่กล่องเปล่าซึ่งใช้บรรจุรถเหล็ก Matchbox Superfast Wheels Series 75 หมายเลข 15 Volkswagen 1500 ตัวกล่องมีสภาพใหม่เอี่ยม ถูกประมูลไปจาก EBay ในราคา 43.50 ปอนด์ หรือกว่า 2,500 บาท โดยมีการประมูลแข่งกันตั้งแต่วันที่ 19 – 26 มกราคม 2009 มีผู้เข้าร่วมประมูลจากทั่วโลก 7 คน ด้วยจำนวนการประมูล 12 ครั้ง ผู้ชนะคือนักสะสมจากสาธารณรัฐเช็คโกสโลวาเกีย


กล่องรถเหล็กรุ่นนี้มีขนาด 8x3.9x2.7 ซม. ผลิตในอังกฤษปี 1971 บนกล่องพิมพ์ภาพวาด 4 สีของ VW 1500 สวยงามมาก ออกแบบตัวอักษรและสีสันในยุคทศวรรษ 1970 ภาพรถโฟล์กเต่า 1500 ดูมีชีวิตชีวาเหมือนกับจะพุ่งออกมาจากกล่องด้วยความเร็วสูง ใต้ภาพรถจะมีตัวอักษขนาดจิ๋ว ระบุข้อความ “MARCA REGISTRADA” C.1971 “MATCHBOX” REG’D.T.M. Lesney Products & Co.Ltd. London England, Made in England ส่วนด้านข้างกล่องนั้นโลโก้ TESTED ภาษาต่างๆและภาพคุณสมบัติของรถเหล็ก ในที่นี้คือ รถโฟล์กคันนี้มีขอลากด้านหลัง, ล้อความเร็วสูงและระบบช่วงล่างแบบรถแข่ง ที่ฝาในทั้งด้านหนึ่งมีธงชาติอังฤษและสเปน รวมทั้งเครื่องหมาย + ที่แสดงถึงความปลอดภัยของของเล่น ฝาด้านในอีกด้านหนึ่งจะเป็นธงชาติเยอรมันและฝรั่งเศส (รวมทั้งเครื่องหมาย + ด้วย)



เห็นไหมครับต้องใช้เวลาเกือบ 40 ปี ถึงรู้ว่ากล่องของเล่น หายากกว่าตัวของเล่น เพราะเด็กๆ กว่า 80% จะทิ้งกล่องไปตั้งแต่แรก และเริ่มชำแหละของเล่นออกเป็นชิ้นๆ ในเวลาต่อมา
หลังจากเวลาผ่านไปในที่สุดก็ต้องมาแย่งกันซื้อกล่องเปล่าในราคาถึงกว่าสองพันบาทในขณะที่ 40 ปีก่อนแทบไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย ทีนี้เห็นคุณค่าของกล่องกันแล้วหรือยังครับ (ราคากล่องพร้อมรถในเวลานั้นขายในเมืองไทยประมาณ 35 บาทครับ)

Tuesday 11 November 2008

GATE - JEEP CJ7 LAUREL & HARDY GO TO SEA


หลายคนคงจะรู้จัก หนังเรื่องอ้วนผอมจอมตลกได้ โดยเฉพาะคนยุคผม (ไม่อยากบอกเลยครับว่าอายุเท่าไร) อ้วนผอมจอมตลก หรือ Laurel และ Hardy เป็นดาราหนังตลกในยุคหนังเงียบ ทั้งคู่แสดงภาพยนตร์ร่วมกันเรื่องแรกในปี 1917 ในภาพยนตร์เรื่อง Lucky Dog และเรื่องสุดท้ายคือ The Flying Deuces และบริษัทผลิตของเล่น Gate (บริษัทเดียวกับผู้ผลิตรถโมเดล Auto Art) ได้ผลิตรถจิ๊ปขึ้นมาคือ Jeep CJ7 Laurel and Hardy Go to Sea ออกแบบในอเมริกา ผลิตในประเทศจีน ปี 2003

รถเหล็กสีเขียวทหาร Jeep CJ7 พร้อมห่น Laurel และ Hardy ในชุดทหารเรือ ผลิตขึ้นโดยได้อนุญาตจาก Larry Harmon Pictures Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์และบริษัท Daimler Chrysler ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รถ Jeep
รถ Jeep คันนี้ กระจกหน้าพับได้ ฝากระโปรงหน้าเปิดได้ ภายในมีเครื่องยนต์เหมือนจริง พวงมาลัยหมุนได้พร้อมล้อหน้าเลี้ยวซ้าย-ขวาได้ คันนี้ใหญ่และหนักมากเชียวครับ

Monday 15 September 2008

รถเหล็ก MATCHBOX ราคา 35 ล้านบาท

คอลัมน์ “อะไร? อะไร? วันวาน ในต่างแดน” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2551 ได้ลงเรื่องราวของรถเหล็ก Matchbox Series หมายเลข 34 ลองอ่านดูก่อนนะครับ เดี๋ยวมาคุยกัน



ต้องทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า Matchbox ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กล่องไม้ขีดไฟ แต่เป็นชื่อของ Brand รถเหล็กขนาดเล็ก (ประมาณ 1:64) ซึ่งผลิตโดย Lesney ซึ่งเป็นบริษัทแรก ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตรถเหล็กขนาดเล็ก Series 75 ของอังกฤษในปี 1953



ผู้แปลของเดลินิวส์คงไม่ทราบว่ามีรถเหล็กแบรนด์นี้ จึงแปลตรงตัวว่ากล่องไม้ขีดไฟ แต่จริงๆ แล้ว Matchbox ก็ได้แรงบันดาลใจ การออกแบบกล่อง-บรรจุรถเหล็กของตนโดยนำรูปแบบมาจากกล่องไม้ขีดไฟของประเทศเช็คโกสโลวาเกีย (ดังรูป) ซึ่งมีขนาดพอเหมาะสำหรับบรรจุรถเหล็กของตัวเอง


ทีนี้มาคุยกันถึงเรื่องของรถเหล็กหมายเลข 34 คันนี้กันบ้างครับ รถเหล็กคันนี้คือ Volkswagen Microvan ผลิตในปี 1957 เป็นการผลิตรถโฟล์คตู้ครั้งแรกของ Lesney จึงกำหนดรหัสสินค้าเป็น 34A ตัวรถสีฟ้า มีรูปลอกน้ำ (Decal) “Matchbox International Express” ทั้งสองด้าน มีความยาวตัวรถ 2.25 นิ้ว ล้อของรถเหล็กในยุคนี้ (1953-1959) เรียกว่า “Regular Wheels”, บริษัท Lesney ผลิตรถเหล็กรุ่นนี้ออกมาเพียงสีเดียวคือ สีฟ้า ใต้ท้องโลหะสีดำ แต่มี Decal และล้อแบบต่างๆ ประมาณ 9 แบบ เช่น ล้อโลหะ, ล้อพลาสติก สีเงิน สีเทา, สีดำ ส่วน Decal มี 2 สีคือ สีเหลืองและสีส้ม แบบที่มีราคาแพงสำหรับนักสะสมคือแบบที่มีล้อพลาสติกสีดำ โดยทั่วไปราคาประมาณ 40,000 บาทขึ้นไปไม่จำกัด

ส่วนกล่องที่ใช้บรรจุรถเหล็กรุ่นนี้มี 3 แบบคือ Type B และ C ในภาพจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นแบบ Type C และอีกแบบจากหนังสือ Matchbox โดย Tom Larson ผู้พิมพ์คือ สำนักพิมพ์ Warman’s กล่องเป็นแบบ Type B



บรรดาแฟนๆ รถเหล็กคงสงสัยนะครับว่าทำไมเจ้า VW Microvan คันนี้ถึงมีราคาสูงถึง 500,000 บาท (ราคาตั้งต้นการประมูลประมาณ 35 ล้านบาท) ผมว่าน่าจะอนุมานโดยดูจากภาพรถเหล็กด้านข้างทั้งสองข้างและกล่องบรรจุ

1. การบรรจุรถ 34A ล้อพลาสติกดำลงในกล่อง Type C (ปกติอาจบรรจุลงกล่องเฉพาะ Type B)
2. ใต้ท้องรถอาจไม่ใช่สีดำตามปกติ
3. สีตัวรถซึ่งเป็นสีฟ้าอาจเพี้ยนเป็นสีอื่นๆ เนื่องจากจากการผลิตในการทดลองตลาด หรือรถต้นแบบซึ่งมีจำนวนการผลิตน้อยมาก

ถ้าแฟนๆ รถเหล็กอยากทราบว่าจริงๆ แล้วมีข้อแตกต่างอย่างไรกับ 34A ที่มีราคาปกติ (ประมาณ 3,500 บาท) อย่างไรก็ลองประมูลมาดูก็ได้ครับ เขาเริ่มประมูลกันวันที่ 16-17 กันยายน 2551 ครับ ขอให้โชคดีประมูลมาได้ครับ จะได้เฉลยได้ว่าจริงๆ แล้วมันมีข้อแตกต่างอย่างไรกับ 34A ปกติ

Friday 5 September 2008

ตุ๊ก ตุ๊ก เมืองตรัง


วันนี้จะพาคุณไปเที่ยวชมจังหวัดตรังกันครับ เปล่าครับ เรายังไม่ได้เปลี่ยน Blog รถเหล็กของเราเป็นเรื่องการท่องเที่ยวหรอกนะครับ การเที่ยวชมครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะพวกเราชาวรถเหล็กจะได้เพลิดเพลิน การเที่ยวชมเมืองตรังไปบน “ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ” พาหนะที่มีประวัติความเป็นมายาวนานคู่กับเมืองตรัง มาจนทุกวันนี้ และจะได้รู้ว่า “เจ้าตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ” คันนี้ เกี่ยวข้องกับรถเหล็กที่เราสะสมกันอย่างไร พร้อมแล้ว กระโดดขึ้นมาบนรถเลยครับ เราจะออกรถกันเดี๋ยวนี้เลย ตุ๊ก ตุ๊ก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ
เสน่ห์อย่างหนึ่งในตัวเมืองตรัง นอกจากตึกรามบ้านช่องโบราณ สถาปัตยกรรมแบบ “ชิโนโปรตุกิส” ที่สร้างขึ้นกว่า 100 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมืองตรัง มามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว นั่นก็คือ “รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ” นี่เองครับ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมืองไทยเริ่มนำเข้ารถตุ๊กตุ๊กหัวกบจากญี่ปุ่นมาใช้เป็นครั้งแรก เจ้ารถตุ๊ก ตุ๊กหัวกบ ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นคันนี้ก็คือ รถ Daihatsu Midget นั่นเองครับ

Daihatsu Midget เริ่มผลิตในปี 1957 และหยุดการผลิตในปี 1972 ในรุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมา (รุ่น DKA, DS2) ระบบบังคับเลี้ยวใช้แบบก้านจับแบบรถมอเตอร์ไซด์ รุ่นต่อมา (MP4-5) ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบพวงมาลัย แบบเดียวกับรถสี่ล้อ รุ่น MP4 และ MP5 เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบสองจังหวะ 305 cc. ระบายความร้อนด้วยอากาศ มีกำลัง 12 แรงม้า มี 3 เกียร์ น้ำหนักบรรทุกประมาณ 350 Kg.



รถตุ๊ก ตุ๊ก หรือ Daihatsu Midget รุ่นแรกๆ เช่น DKA หรือ DS2 ได้นำมาใช้ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2502 และได้มีการดัดแปลงเรื่อยมาจนกระทั่งมีการผลิตเองในเมืองไทยได้เกือบทั้งคัน รูปร่างก็ยังคงมีลักษณะใกล้เคียงกับ Daihatsu Midget รุ่น DKA ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบแฮนด์จักรยานยนต์และใช้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนรถตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบที่นำมาใช้ในจังหวัดตรังตั้งแต่ปี 2509 นั้นเป็นรุ่นต่อมาของ Daihatsu Midget คือ รุ่น MP4 และ MP5 ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบพวงมาลัย และห้องคนขับมีประตูปิด-เปิด ผู้โดยสารสามารถนั่งคู่กับคนขับได้ครับ





ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นรุ่นแรกที่นำเข้ามาใช้งานในจังหวัดตรังคือ รุ่น MP4 มีจำนวนไม่มากนัก นับเป็นรุ่นหายาก ต่อมาคือรุ่น MP5 ซึ่งมีจำนวนมากและใช้กันมาถึงปัจจุบัน ส่วนแตกต่างระหว่าง MP4 และ MP5 ซึ่งเป็นรุ่น Minor Change ที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ ช่องระบายอากาศที่อยู่ใต้ไฟหน้าของ MP5 จะมีขนาดใหญ่กว่า MP4 รถทั้ง 2 รุ่นนี้ยังคงมีการอนุรักษ์และใช้งานโดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอกของ Daihatsu Midget รุ่น MP4 และ 5 เลยครับ



ประวัติรถตุ๊กตุ๊กหัวกบรุ่นดั้งเดิม ถูกส่งลงเรือจากญี่ปุ่น แล้วมาต่อรถไฟเข้าไปยังเมืองตรัง ลักษณะตัวรถจะเป็นกระบะสามล้อขนาดเล็ก ไม่มีหลังคาครอบด้านหลัง ต่อมาช่างไทยได้ปรับแต่งเพิ่มเติมหลังคาเข้าไป เพื่อกันร้อนกันฝนให้ผู้โดยสาร หลายๆ คนคงสงสัยกันนะครับ ว่าทำไมคนเมืองตรังต้องใช้รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ นั่นก็เป็นเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในเขตจังหวัดตรัง ส่วนใหญ่จะเป็นลอนลูกฟูก หรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่า “ควน” ซึ่งแปลว่าเนินครับ การใช้รถสามล้อเครื่องทุ่นแรง จึงมีความเหมาะสมและสะดวก สามารถซอกซอนไปตามซอกซอยคับแคบได้ง่าย ปัจจุบันในตัวเมืองตรัง ยังเหลือรถตุ๊กตุ๊กหัวกบให้เห็นได้กว่า 300 คัน และมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชมรมสามล้อเครื่อง เพื่ออนุรักษ์รถตุ๊กตุ๊กหน้าตาน่ารักแบบนี้ให้อยู่คู่เมืองตรังต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยครับ ถ้าจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองตรังส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มักจะไม่พลาดโปรแกรมนั่งรถตุ๊กตุ๊กหัวกบเที่ยวชมเมือง ราคาค่าโดยสารจะเริ่มต้นที่ 15 บาท แล้วแต่ระยะทาง หรืออาจจะเหมาเป็นวันก็ได้ครับ นั่งรถเที่ยวชมเมืองตรังกันจนเหนื่อยแล้ว กลับมาที่พักผมจะมีสิ่งที่พวกเราชื่นชอบมาให้ชมกันครับ มันจะเป็นสิ่งใดไปไม่ได้ นอกจากรถเหล็กนั่นเอง และแน่นอนครับต้องเป็น ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ เท่านั้น



ผู้ผลิตรถเหล็ก ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ หรือ Daihatsu Midget เจ้าแรกๆ น่าจะเป็น Tomy ซึ่งผลิต Tomica หมายเลข 21 ด้วย อัตราส่วน 1: 50 เริ่มผลิตในปี 1980 จนปัจจุบันก็ยังผลิตอยู่ครับ คันที่นำมาให้ชมกันนี้เป็นรุ่นแรกๆ ที่ผลิตในช่วงปี 1980-1984 มี 2 แบบคือ สีครีม ผ้าใบคลุมกระบะสีดำ และสีฟ้า ผ้าคลุมกระบะสีครีม (ผ้าคลุมถอดออกจากกระบะได้) กระจกใส ภายในสีแดง ใต้ท้องโลหะ มีข้อมูลรถเหล็ก โลโก้ Tomica, No.21, S1/50 Daihatsu Midget, C.Tomy, Made in Japan






รถเหล็ก Tomica หมายเลข 21 ซึ่งเป็นรถตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบคันนี้ได้ผลิตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยมีสีและการพิมพ์ Tempa รวมทั้งการใช้สติกเกอร์แบบต่างๆ อย่างเช่น รถเหล็กคันที่นำมาให้ชมกันนี้ผลิตในราวๆ ปี 2000 เป็น 1 ใน 4 แบบจากรถเหล็กชุด Pokemon ซึ่งผลิตสำหรับจำหน่ายในญี่ปุ่นเท่านั้นโดยได้ลิขสิทธิ์จากเกมส์ Nintendo ตัวรถสีส้ม กระจกใส ภายในสีเขียว มีรถพ่วงสีเขียว มีลวดลายและสีสันสไตส์เกมส์นินเทนโด


รถเหล็ก Tomica ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบอีกคันหนึ่งคือ หมายเลข D16 เป็นรถเหล็ก Daihatsu Midget ที่ผลิตโดยได้รับลิขสิทธิ์จาก Disney ผลิตประมาณปี 2006 ตัวรถสีเหลือง ผ้าใบคลุมกระบะสีเขียว มีลวดลายจากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Chicken Little ไฟหน้ารถสีบรอนซ์เงิน กระจกใส ภายในสีแดง



ครับรถเล็กที่มีสามล้อหน้าตาน่ารักที่ชื่อว่า ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบแบบนี้ นับเป็นรถคลาสสิกของค่ายรถญี่ปุ่นคันหนึ่งเลยทีเดียวครับ ก่อนจะกลับบ้านมีของแถมให้ครับนั้นคือ รถพัฒนาการรุ่นต่อมาของ Daihatsu Midget :ซึ่งเป็นรถหัวกบที่มีตัวอ้วนกว่าเดิมและมีขา 4 ขา คือ Midget II เปิดตัวในฐานะรถต้นแบบในงาน Tokyo Motor Show ปี 1993 เป็นรถ Midget ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ เพิ่มล้ออีก 1 ล้อ กลายเป็นรถ 4 ล้อขนาดจิ๋ว ใช้เครื่องยนต์ 660 cc. สามารถติดเครื่องปรับอากาศได้ มีการผลิตในช่วงปี 1996-2001 ตัวรถจริงเคยเห็นมาวิ่งในบ้านเราอยู่บ้างครับ แถวๆ บ้านผม (ถนนรามคำแหง) ก็เคยเห็นวิ่งอยู่คันหนึ่งครับ น่ารักมากครับ และสุดท้ายก็มีรถเหล็กมาให้ชมกันด้วยครับ เป็นของ Tomica ผลิตในปี 1996 หมายเลข 62 อัตราส่วน 1:50

ก่อนจากกันก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายที่นำมาประกอบ Blog บางภาพเช่น ภาพถ่าย Tuk Tuk ที่เมืองตรัง เช่นคุณ Kohyao คุณ Bugnut