เสน่ห์อย่างหนึ่งในตัวเมืองตรัง นอกจากตึกรามบ้านช่องโบราณ สถาปัตยกรรมแบบ “ชิโนโปรตุกิส” ที่สร้างขึ้นกว่า 100 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมืองตรัง มามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว นั่นก็คือ “รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ” นี่เองครับ
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมืองไทยเริ่มนำเข้ารถตุ๊กตุ๊กหัวกบจากญี่ปุ่นมาใช้เป็นครั้งแรก เจ้ารถตุ๊ก ตุ๊กหัวกบ ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นคันนี้ก็คือ รถ Daihatsu Midget นั่นเองครับ
Daihatsu Midget เริ่มผลิตในปี 1957 และหยุดการผลิตในปี 1972 ในรุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมา (รุ่น DKA, DS2) ระบบบังคับเลี้ยวใช้แบบก้านจับแบบรถมอเตอร์ไซด์ รุ่นต่อมา (MP4-5) ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบพวงมาลัย แบบเดียวกับรถสี่ล้อ รุ่น MP4 และ MP5 เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบสองจังหวะ 305 cc. ระบายความร้อนด้วยอากาศ มีกำลัง 12 แรงม้า มี 3 เกียร์ น้ำหนักบรรทุกประมาณ 350 Kg.
ส่วนรถตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบที่นำมาใช้ในจังหวัดตรังตั้งแต่ปี 2509 นั้นเป็นรุ่นต่อมาของ Daihatsu Midget คือ รุ่น MP4 และ MP5 ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบพวงมาลัย และห้องคนขับมีประตูปิด-เปิด ผู้โดยสารสามารถนั่งคู่กับคนขับได้ครับ
ประวัติรถตุ๊กตุ๊กหัวกบรุ่นดั้งเดิม ถูกส่งลงเรือจากญี่ปุ่น แล้วมาต่อรถไฟเข้าไปยังเมืองตรัง ลักษณะตัวรถจะเป็นกระบะสามล้อขนาดเล็ก ไม่มีหลังคาครอบด้านหลัง ต่อมาช่างไทยได้ปรับแต่งเพิ่มเติมหลังคาเข้าไป เพื่อกันร้อนกันฝนให้ผู้โดยสาร หลายๆ คนคงสงสัยกันนะครับ ว่าทำไมคนเมืองตรังต้องใช้รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ นั่นก็เป็นเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในเขตจังหวัดตรัง ส่วนใหญ่จะเป็นลอนลูกฟูก หรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่า “ควน” ซึ่งแปลว่าเนินครับ การใช้รถสามล้อเครื่องทุ่นแรง จึงมีความเหมาะสมและสะดวก สามารถซอกซอนไปตามซอกซอยคับแคบได้ง่าย ปัจจุบันในตัวเมืองตรัง ยังเหลือรถตุ๊กตุ๊กหัวกบให้เห็นได้กว่า 300 คัน และมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชมรมสามล้อเครื่อง เพื่ออนุรักษ์รถตุ๊กตุ๊กหน้าตาน่ารักแบบนี้ให้อยู่คู่เมืองตรังต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยครับ ถ้าจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองตรังส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มักจะไม่พลาดโปรแกรมนั่งรถตุ๊กตุ๊กหัวกบเที่ยวชมเมือง ราคาค่าโดยสารจะเริ่มต้นที่ 15 บาท แล้วแต่ระยะทาง หรืออาจจะเหมาเป็นวันก็ได้ครับ นั่งรถเที่ยวชมเมืองตรังกันจนเหนื่อยแล้ว กลับมาที่พักผมจะมีสิ่งที่พวกเราชื่นชอบมาให้ชมกันครับ มันจะเป็นสิ่งใดไปไม่ได้ นอกจากรถเหล็กนั่นเอง และแน่นอนครับต้องเป็น ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ เท่านั้น
ผู้ผลิตรถเหล็ก ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ หรือ Daihatsu Midget เจ้าแรกๆ น่าจะเป็น Tomy ซึ่งผลิต Tomica หมายเลข 21 ด้วย อัตราส่วน 1: 50 เริ่มผลิตในปี 1980 จนปัจจุบันก็ยังผลิตอยู่ครับ คันที่นำมาให้ชมกันนี้เป็นรุ่นแรกๆ ที่ผลิตในช่วงปี 1980-1984 มี 2 แบบคือ สีครีม ผ้าใบคลุมกระบะสีดำ และสีฟ้า ผ้าคลุมกระบะสีครีม (ผ้าคลุมถอดออกจากกระบะได้) กระจกใส ภายในสีแดง ใต้ท้องโลหะ มีข้อมูลรถเหล็ก โลโก้ Tomica, No.21, S1/50 Daihatsu Midget, C.Tomy, Made in Japan
รถเหล็ก Tomica หมายเลข 21 ซึ่งเป็นรถตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบคันนี้ได้ผลิตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยมีสีและการพิมพ์ Tempa รวมทั้งการใช้สติกเกอร์แบบต่างๆ อย่างเช่น รถเหล็กคันที่นำมาให้ชมกันนี้ผลิตในราวๆ ปี 2000 เป็น 1 ใน 4 แบบจากรถเหล็กชุด Pokemon ซึ่งผลิตสำหรับจำหน่ายในญี่ปุ่นเท่านั้นโดยได้ลิขสิทธิ์จากเกมส์ Nintendo ตัวรถสีส้ม กระจกใส ภายในสีเขียว มีรถพ่วงสีเขียว มีลวดลายและสีสันสไตส์เกมส์นินเทนโด
รถเหล็ก Tomica ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบอีกคันหนึ่งคือ หมายเลข D16 เป็นรถเหล็ก Daihatsu Midget ที่ผลิตโดยได้รับลิขสิทธิ์จาก Disney ผลิตประมาณปี 2006 ตัวรถสีเหลือง ผ้าใบคลุมกระบะสีเขียว มีลวดลายจากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Chicken Little ไฟหน้ารถสีบรอนซ์เงิน กระจกใส ภายในสีแดง
ครับรถเล็กที่มีสามล้อหน้าตาน่ารักที่ชื่อว่า ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบแบบนี้ นับเป็นรถคลาสสิกของค่ายรถญี่ปุ่นคันหนึ่งเลยทีเดียวครับ ก่อนจะกลับบ้านมีของแถมให้ครับนั้นคือ รถพัฒนาการรุ่นต่อมาของ Daihatsu Midget :ซึ่งเป็นรถหัวกบที่มีตัวอ้วนกว่าเดิมและมีขา 4 ขา คือ Midget II เปิดตัวในฐานะรถต้นแบบในงาน Tokyo Motor Show ปี 1993 เป็นรถ Midget ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ เพิ่มล้ออีก 1 ล้อ กลายเป็นรถ 4 ล้อขนาดจิ๋ว ใช้เครื่องยนต์ 660 cc. สามารถติดเครื่องปรับอากาศได้ มีการผลิตในช่วงปี 1996-2001 ตัวรถจริงเคยเห็นมาวิ่งในบ้านเราอยู่บ้างครับ แถวๆ บ้านผม (ถนนรามคำแหง) ก็เคยเห็นวิ่งอยู่คันหนึ่งครับ น่ารักมากครับ และสุดท้ายก็มีรถเหล็กมาให้ชมกันด้วยครับ เป็นของ Tomica ผลิตในปี 1996 หมายเลข 62 อัตราส่วน 1:50
ก่อนจากกันก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายที่นำมาประกอบ Blog บางภาพเช่น ภาพถ่าย Tuk Tuk ที่เมืองตรัง เช่นคุณ Kohyao คุณ Bugnut
1 comment:
Daihatsu midget mp5
Post a Comment