Tuesday, 30 September 2008

THREE MATCHBOX CHOPPER

วันนี้มีของฝากสำหรับสิงห์มอเตอร์ไซด์ครับ ในปี 1972 ซึ่งเป็นยุคที่รถมอเตอร์ไซด์ Chopper ได้รับความนิยมอย่างสูง Lesney ได้ผลิต Chopper ออกมาอีก 2 แบบ คือ หมายเลข 49B และ 71B ก่อนจะไปทดลองขับกัน มาทำความรู้จักกับเจ้ามอเตอร์ไซด์ Chopper กันสักนิดดีไหมครับ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหนุ่มซึ่งกลับมาจากสงคราม และผ่านการฝึกงานอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพทางช่างเครื่องยนต์ รวมทั้งพวกที่มีใจรักทางด้านเครื่องยนต์กลไกและพวกชอบแข่งรถ ก็ได้พากันดัดแปลงรถมอเตอร์ไซด์เก่าๆ ที่จอดทิ้งไว้ในโรงรถ โดยทำการถอด ตัด สับ หั่น (ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของมอเตอร์ไซด์ Chopper นั่นเองครับ) ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและทำให้รถดูไม่สวยงาม และทำให้รถมีน้ำหนักมากเกินไป เช่น บังโคลน ไฟเลี้ยว เบรกหน้า โดยเฉพาะเบาะนั่งที่มีสปริงขนาดใหญ่ก็ถูกตัดให้สั้นลงและเตี้ยติดดินมากที่สุด และได้พบว่า ตะเกียบล้อหน้าที่ถูกทำให้ยื่นยาวออกมานั้น ทำให้มอเตอร์ไซด์วิ่งได้ ราบเรียบ นุ่มนวลและเร็วขึ้น ถึงแม้จะบังคับเลี้ยวได้ยาก ในขณะที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำ รถมอเตอร์ไซด์ Chopper ได้มีการพัฒนาและตกแต่งให้สวยงามมากขึ้น จนในยุคทศวรรษ 1970 ก็ได้รับความนิยมสูงสุดหลังจากภาพยนตร์เรื่อง Easy Rider ออกฉายในปี 1969 จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คือรถ Chopper ที่ดัดแปลงจาก Harley Davidsons คันนี้นี่เองครับ

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตมอเตอร์ไซด์ Chopper โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมาก เช่น Jesse G James West Coast Choppers, Orange County Choppers (ใครที่เคยดู Discovery Channel คงจะรู้จัก Chopper เจ้านี้ดีครับ), Von Dutch Kustom Cycles

ทีนี้มาว่ากันถึงรถเหล็ก Chopper กันบ้างครับ Lesney เป็นเจ้าแรกๆ ที่ผลิต Chopper คันจิ๋วมาให้เราชื่นชมกัน คันแรกที่ผลิตออกมาในปี 1972 คือหมายเลข 38B ชื่อว่า The Stingroo Chopper มีเอกลักษณ์รูปหัวม้าขาวอยู่ที่ปลายพนักพิงเบาะนั่ง ผลิตออกมาเพียงสีเดียวคือ สีม่วงอ่อน แต่มีแฮนด์สีต่างๆ กัน 3 แบบคือ แฮนด์โครเมี่ยม แฮนด์สีเทา และสีม่วง ขนาดความยาว 7.7 ซม.



ปี 1973 หลังจากที่ Chopper Stingroo ได้รับความนิยมมากจากนักสะสมรถเหล็ก Lesney ก็ผลิต Chopper หมายเลข 49B ชื่อว่า Chop Suey มีรูปหัววัวกระทิงสีเหลืองอยู่ที่ตำแหน่งไฟหน้า ผลิตออกมาเพียงสีเดียวคือ สีม่วงแดง แต่มีแฮนด์สีต่างๆ 5 สีคือ สีโครเมี่ยม สีส้ม สีแดง สีดำ สีแดงเข้ม มีขนาดความยาว 7.1 ซม.

และในปีเดียวกันนั้นเอง Chopper จาก Lesney หมายเลข 71B ก็เผยโฉมออกมานับเป็น Chopper คันสุดท้ายของ Lesney มอเตอร์ไซด์ Chopper คันนี้ก็คือ Jumbo Jet มีเอกลักษณ์คือ หัวช้างสีแดง ที่ตำแหน่งไฟหน้า ผลิตออกมีสีเดียวคือ สีน้ำเงินเข้ม แต่มีแฮนด์ 2 สีคือ สีน้ำเงินอ่อนและสีน้ำเงินเข้ม ความยาว 6.8 ซม.

รถ Chopper ทั้ง 3 แบบของ Lesney นี้ มีเครื่องยนต์โครเมี่ยมที่ต่างกันทั้ง 3 แบบ, Stingroo มีล้อ 3 ล้อ ส่วน Chop Suey และ Jumbo Jet มี 2 ล้อ Lesney ผลิต Chopper ไว้เพียง 3 แบบเท่านั้นเองครับ หลังจากนั้นจนสิ้นยุคของ Lesney ในปี 1982 ก็ไม่ได้ผลิต Chopper แนวนี้ออกมาเลยครับ

Sunday, 28 September 2008

รถเหล็ก VIGILANT RANGE ROVER POLICE COACH ของ CORGI




รถเหล็ก Corgi No.461A Vigilant Range Rover Police Coach ผลิตในประเทศอังกฤษ ปี 1972 ความยาว 10.3 ซม. รถตำรวจสีครีม ใต้ท้องโลหะสีเดิม หน้าต่างหลังเปิด-ปิดได้ มีระบบกันกระเทือน ภายในสีแดง รถคันนี้เป็นยุคแรกๆ ที่ผลิตด้วยโลหะผสมชนิดใหม่ (ในสมัยนั้น) ที่เรียกว่า Mazak และใช้กันมาจนปัจจุบัน ใครสะสมรถ 4WD น่าสนใจหามาสะสมครับ

Friday, 26 September 2008

รถเหล็ก PRIESTMAN CUP SHOVEL ของ CORGI





สวัสดีครับ วันนี้ผมเอารถตัก Corgi มาให้ชมกันครับ รถคันนี้เป็นตัวอย่างของโมเดลที่เป็นของเล่นในยุคปี ’60 มันแป็นทั้งโมเดลที่สวยงามถูกสัดส่วน ทำด้วยวัสดุชั้นดีและขณะเดียวกันก็สามารถเล่นได้ด้วย กลไกต่างๆ ทำงานได้อย่างแม่นยำและไม่ติดขัด มีความแข็งแรงเพื่อไว้ใช้เล่น โมเดลปัจจุบันส่วนมากเล่นไม่ได้ครับ มีแต่ความละเอียดสวยงามเท่านั้น รถคันนี้ก็คือ รถเหล็ก Corgi No.1128-A Priestman Cup Shovel ผลิตในประเทศอังกฤษ ปี 1963 ความยาว 15.7 ซม. ตัวรถสีเทา สีเหลืองและส้ม ทุกชิ้นส่วนทำด้วยโลหะ ยกเว้นสายพานยางสีดำ ห้องคนขับกระจกใส และคนขับลงสีด้วยมือ ตัวอักษร “PRIESTMAN” ที่ก้านยกใช้วิธีหล่อลงบนเนื้อโลหะ แกนล้อและรอกทำด้วยอลูมิเนียมกลึง สายพานสีดำกึ่งยางกึ่งพลาสติก มีกลไกให้แขนตักและแท่นขับสายพานหมุนได้ และมีก้านล็อกได้ทำด้วยมือ รถตักคันนี้มีอายุกว่า 45 ปีแล้วครับ

รถเหล็ก PRIESTMAN CUP SHOVEL ของ CORGI


สวัสดีครับ วันนี้ผมเอารถตัก Corgi มาให้ชมกันครับ รถคันนี้เป็นตัวอย่างของโมเดลที่เป็นของเล่นในยุคปี ’60 มันแป็นทั้งโมเดลที่สวยงามถูกสัดส่วน ทำด้วยวัสดุชั้นดีและขณะเดียวกันก็สามารถเล่นได้ด้วย กลไกต่างๆ ทำงานได้อย่างแม่นยำและไม่ติดขัด มีความแข็งแรงเพื่อไว้ใช้เล่น โมเดลปัจจุบันส่วนมากเล่นไม่ได้ครับ มีแต่ความละเอียดสวยงามเท่านั้น รถคันนี้ก็คือ รถเหล็ก Corgi No.1128-A Priestman Cup Shovel ผลิตในประเทศอังกฤษ ปี 1963 ความยาว 15.7 ซม. ตัวรถสีเทา สีเหลืองและส้ม ทุกชิ้นส่วนทำด้วยโลหะ ยกเว้นสายพานยางสีดำ ห้องคนขับกระจกใส และคนขับลงสีด้วยมือ ตัวอักษร “PRIESTMAN” ที่ก้านยกใช้วิธีหล่อลงบนเนื้อโลหะ แกนล้อและรอกทำด้วยอลูมิเนียมกลึง สายพานสีดำกึ่งยางกึ่งพลาสติก มีกลไกให้แขนตักและแท่นขับสายพานหมุนได้ และมีก้านล็อกได้ทำด้วยมือ รถตักคันนี้มีอายุกว่า 45 ปีแล้วครับ

Wednesday, 24 September 2008

1909 THOMAS FLYABOUT

วันนี้เราจะมาคุยกันถึงรถเหล็ก Matchbox Model of Yesteryear No.Y12 – 1909 Thomas Flyabout ผลิตโดย Lesney ในอังกฤษ ปี 1967 กันนะครับ



รถจริงของ Thomas Flyabout ปี 1909 รุ่นนี้เคยทำสถิติชนะเลิศในการแข่งขันทางไกลในปี 1908 จากนิวยอร์คไปปารีส โดยข้ามทวีปอเมริกาเหนือ แล้วลงเรือที่ซานฟรานซิสโก ข้ามมหาสมุทรไปอลาสก้าต่อไปไซบีเรีย จนจบการแข่งขันที่ปารีสรวมระยะทาง 13,300 ไมล์ ใช้เวลารวม 171 วัน รถ Thomas Flyabout เป็นรถอเมริกันที่เทียบชั้นกับ Rolls Royce ของอังกฤษ ผลิตโดย Thomas Motor Company, NY. USA. ผู้ก่อตั้งคือ Erwin Ross เริ่มผลิตรถคันแรกในปี 1903 สำหรับรถรุ่น Flyabout เริ่มผลิตขายในปี 1909 หลังจากที่ชนะการแข่งขันนิวยอร์ค-ปารีสในปี 1908 โดยตั้งชื่อรุ่นว่า 1909 Thomas Model K670 Flyabout (รถคันที่ใช้แข่งดัดแปลงและปรับปรุงจากรถที่อยู่ในสายพานการผลิตปี 1908) รถคันนี้ใช้เครื่องยนต์ขนาด 786 ลูกบาศ์กนิ้ว แปดสูบ กำลัง 72.6 แรงม้า ราคาขายในตอนนั้น US$6000 ถือเป็นรถที่มีราคาแพงมาก (Ford-T US$850)



รถเหล็ก Y12-B คันนี้ สีฟ้าเมทัลลิค ใต้ท้องโลหะ กระจังหน้า กรอบกระจก ไฟหรี่ เบรกมือโลหะ เบาะนั่งสีน้ำตาล และเป็นครั้งแรกที่หลังคารถสีแทน มีหูยึดติดกับเบาะที่นั่ง พวงมาลัยสีดำ มียางอะไหล่ 1 เส้น ด้านหลังรถมีที่วางกระเป๋าเดินทาง ล้อก้านโลหะทองเหลือง 12 ก้าน ยางถอดได้ (ยางรถของ Matchbox Yesteryear ในยุคแรกๆ จะเป็นยางที่มีขนาดเล็ก และก้านล้อจะเป็นโลหะ หลังจากปี 1970 ยางจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และก้านล้อจะเป็นพลาสติค ส่วนใหญ่สีโครเมี่ยม) รถเหล็กรุ่นนี้ผลิตออกมาโดยมีสีต่างๆ 8 แบบ แบบที่มีราคาสูงคือ สีฟ้าที่นั่งและกระจังหน้าสีเหลือง ราคากว่า 35,000 บาท ผมมีอีกคันคือสีแดง เอามาฝากกันด้วยครับ


Monday, 15 September 2008

รถเหล็ก MATCHBOX ราคา 35 ล้านบาท

คอลัมน์ “อะไร? อะไร? วันวาน ในต่างแดน” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2551 ได้ลงเรื่องราวของรถเหล็ก Matchbox Series หมายเลข 34 ลองอ่านดูก่อนนะครับ เดี๋ยวมาคุยกัน



ต้องทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า Matchbox ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กล่องไม้ขีดไฟ แต่เป็นชื่อของ Brand รถเหล็กขนาดเล็ก (ประมาณ 1:64) ซึ่งผลิตโดย Lesney ซึ่งเป็นบริษัทแรก ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตรถเหล็กขนาดเล็ก Series 75 ของอังกฤษในปี 1953



ผู้แปลของเดลินิวส์คงไม่ทราบว่ามีรถเหล็กแบรนด์นี้ จึงแปลตรงตัวว่ากล่องไม้ขีดไฟ แต่จริงๆ แล้ว Matchbox ก็ได้แรงบันดาลใจ การออกแบบกล่อง-บรรจุรถเหล็กของตนโดยนำรูปแบบมาจากกล่องไม้ขีดไฟของประเทศเช็คโกสโลวาเกีย (ดังรูป) ซึ่งมีขนาดพอเหมาะสำหรับบรรจุรถเหล็กของตัวเอง


ทีนี้มาคุยกันถึงเรื่องของรถเหล็กหมายเลข 34 คันนี้กันบ้างครับ รถเหล็กคันนี้คือ Volkswagen Microvan ผลิตในปี 1957 เป็นการผลิตรถโฟล์คตู้ครั้งแรกของ Lesney จึงกำหนดรหัสสินค้าเป็น 34A ตัวรถสีฟ้า มีรูปลอกน้ำ (Decal) “Matchbox International Express” ทั้งสองด้าน มีความยาวตัวรถ 2.25 นิ้ว ล้อของรถเหล็กในยุคนี้ (1953-1959) เรียกว่า “Regular Wheels”, บริษัท Lesney ผลิตรถเหล็กรุ่นนี้ออกมาเพียงสีเดียวคือ สีฟ้า ใต้ท้องโลหะสีดำ แต่มี Decal และล้อแบบต่างๆ ประมาณ 9 แบบ เช่น ล้อโลหะ, ล้อพลาสติก สีเงิน สีเทา, สีดำ ส่วน Decal มี 2 สีคือ สีเหลืองและสีส้ม แบบที่มีราคาแพงสำหรับนักสะสมคือแบบที่มีล้อพลาสติกสีดำ โดยทั่วไปราคาประมาณ 40,000 บาทขึ้นไปไม่จำกัด

ส่วนกล่องที่ใช้บรรจุรถเหล็กรุ่นนี้มี 3 แบบคือ Type B และ C ในภาพจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นแบบ Type C และอีกแบบจากหนังสือ Matchbox โดย Tom Larson ผู้พิมพ์คือ สำนักพิมพ์ Warman’s กล่องเป็นแบบ Type B



บรรดาแฟนๆ รถเหล็กคงสงสัยนะครับว่าทำไมเจ้า VW Microvan คันนี้ถึงมีราคาสูงถึง 500,000 บาท (ราคาตั้งต้นการประมูลประมาณ 35 ล้านบาท) ผมว่าน่าจะอนุมานโดยดูจากภาพรถเหล็กด้านข้างทั้งสองข้างและกล่องบรรจุ

1. การบรรจุรถ 34A ล้อพลาสติกดำลงในกล่อง Type C (ปกติอาจบรรจุลงกล่องเฉพาะ Type B)
2. ใต้ท้องรถอาจไม่ใช่สีดำตามปกติ
3. สีตัวรถซึ่งเป็นสีฟ้าอาจเพี้ยนเป็นสีอื่นๆ เนื่องจากจากการผลิตในการทดลองตลาด หรือรถต้นแบบซึ่งมีจำนวนการผลิตน้อยมาก

ถ้าแฟนๆ รถเหล็กอยากทราบว่าจริงๆ แล้วมีข้อแตกต่างอย่างไรกับ 34A ที่มีราคาปกติ (ประมาณ 3,500 บาท) อย่างไรก็ลองประมูลมาดูก็ได้ครับ เขาเริ่มประมูลกันวันที่ 16-17 กันยายน 2551 ครับ ขอให้โชคดีประมูลมาได้ครับ จะได้เฉลยได้ว่าจริงๆ แล้วมันมีข้อแตกต่างอย่างไรกับ 34A ปกติ

Thursday, 11 September 2008

AUSTIN MINI COOPER RALLY-SURF




รถเหล็ก Vanguards No.VA 02514 – Austin Mini Cooper Rally-Surf Blue ผลิตโดย Lledo Collectibles, Great Britain ในจีนปี 2004 ความยาว 7.2 ซม.

รถเหล็ก Austin Mini คันนี้สีฟ้า หลังคาขาว หมายเลขรถแข่งด้านข้างคือเบอร์ 64 สีดำบนพื้นวงกลมขาว บนหลังคามี Rack และยางอะไหล่สองเส้น กันชน หน้า-หลัง กระจังหน้าโครเมี่ยม ไฟหน้าคริสตัล ที่ปัดน้ำฝนโลหะ มือจับประตู ฝาถังน้ำมัน มือจับฝาท้าย ไฟส่องท้ายและคิ้วส่วนล่างของตัวรถ สีบรอนซ์เงิน กระจกใส ภายในสีฟ้า พวงมาลัยสีกำ หมายเลขผู้ขับ ETN 393C ล้อยางถอดได้ ดุมล้อแม็กสีบรอนซ์เงิน พร้อมกล่องโชว์และกล่องกระดาษภายนอกที่แท่นวางรถระบุการผลิตจำนวนจำกัดว่าเป็นหนึ่งในห้าพันหกร้อยชิ้นของการผลิตทั่วโลก พร้อม Catolog สะสมคะแนน

Friday, 5 September 2008

ตุ๊ก ตุ๊ก เมืองตรัง


วันนี้จะพาคุณไปเที่ยวชมจังหวัดตรังกันครับ เปล่าครับ เรายังไม่ได้เปลี่ยน Blog รถเหล็กของเราเป็นเรื่องการท่องเที่ยวหรอกนะครับ การเที่ยวชมครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะพวกเราชาวรถเหล็กจะได้เพลิดเพลิน การเที่ยวชมเมืองตรังไปบน “ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ” พาหนะที่มีประวัติความเป็นมายาวนานคู่กับเมืองตรัง มาจนทุกวันนี้ และจะได้รู้ว่า “เจ้าตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ” คันนี้ เกี่ยวข้องกับรถเหล็กที่เราสะสมกันอย่างไร พร้อมแล้ว กระโดดขึ้นมาบนรถเลยครับ เราจะออกรถกันเดี๋ยวนี้เลย ตุ๊ก ตุ๊ก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ
เสน่ห์อย่างหนึ่งในตัวเมืองตรัง นอกจากตึกรามบ้านช่องโบราณ สถาปัตยกรรมแบบ “ชิโนโปรตุกิส” ที่สร้างขึ้นกว่า 100 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมืองตรัง มามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว นั่นก็คือ “รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ” นี่เองครับ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมืองไทยเริ่มนำเข้ารถตุ๊กตุ๊กหัวกบจากญี่ปุ่นมาใช้เป็นครั้งแรก เจ้ารถตุ๊ก ตุ๊กหัวกบ ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นคันนี้ก็คือ รถ Daihatsu Midget นั่นเองครับ

Daihatsu Midget เริ่มผลิตในปี 1957 และหยุดการผลิตในปี 1972 ในรุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมา (รุ่น DKA, DS2) ระบบบังคับเลี้ยวใช้แบบก้านจับแบบรถมอเตอร์ไซด์ รุ่นต่อมา (MP4-5) ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบพวงมาลัย แบบเดียวกับรถสี่ล้อ รุ่น MP4 และ MP5 เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบสองจังหวะ 305 cc. ระบายความร้อนด้วยอากาศ มีกำลัง 12 แรงม้า มี 3 เกียร์ น้ำหนักบรรทุกประมาณ 350 Kg.



รถตุ๊ก ตุ๊ก หรือ Daihatsu Midget รุ่นแรกๆ เช่น DKA หรือ DS2 ได้นำมาใช้ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2502 และได้มีการดัดแปลงเรื่อยมาจนกระทั่งมีการผลิตเองในเมืองไทยได้เกือบทั้งคัน รูปร่างก็ยังคงมีลักษณะใกล้เคียงกับ Daihatsu Midget รุ่น DKA ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบแฮนด์จักรยานยนต์และใช้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนรถตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบที่นำมาใช้ในจังหวัดตรังตั้งแต่ปี 2509 นั้นเป็นรุ่นต่อมาของ Daihatsu Midget คือ รุ่น MP4 และ MP5 ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบพวงมาลัย และห้องคนขับมีประตูปิด-เปิด ผู้โดยสารสามารถนั่งคู่กับคนขับได้ครับ





ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นรุ่นแรกที่นำเข้ามาใช้งานในจังหวัดตรังคือ รุ่น MP4 มีจำนวนไม่มากนัก นับเป็นรุ่นหายาก ต่อมาคือรุ่น MP5 ซึ่งมีจำนวนมากและใช้กันมาถึงปัจจุบัน ส่วนแตกต่างระหว่าง MP4 และ MP5 ซึ่งเป็นรุ่น Minor Change ที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ ช่องระบายอากาศที่อยู่ใต้ไฟหน้าของ MP5 จะมีขนาดใหญ่กว่า MP4 รถทั้ง 2 รุ่นนี้ยังคงมีการอนุรักษ์และใช้งานโดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอกของ Daihatsu Midget รุ่น MP4 และ 5 เลยครับ



ประวัติรถตุ๊กตุ๊กหัวกบรุ่นดั้งเดิม ถูกส่งลงเรือจากญี่ปุ่น แล้วมาต่อรถไฟเข้าไปยังเมืองตรัง ลักษณะตัวรถจะเป็นกระบะสามล้อขนาดเล็ก ไม่มีหลังคาครอบด้านหลัง ต่อมาช่างไทยได้ปรับแต่งเพิ่มเติมหลังคาเข้าไป เพื่อกันร้อนกันฝนให้ผู้โดยสาร หลายๆ คนคงสงสัยกันนะครับ ว่าทำไมคนเมืองตรังต้องใช้รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ นั่นก็เป็นเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในเขตจังหวัดตรัง ส่วนใหญ่จะเป็นลอนลูกฟูก หรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่า “ควน” ซึ่งแปลว่าเนินครับ การใช้รถสามล้อเครื่องทุ่นแรง จึงมีความเหมาะสมและสะดวก สามารถซอกซอนไปตามซอกซอยคับแคบได้ง่าย ปัจจุบันในตัวเมืองตรัง ยังเหลือรถตุ๊กตุ๊กหัวกบให้เห็นได้กว่า 300 คัน และมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชมรมสามล้อเครื่อง เพื่ออนุรักษ์รถตุ๊กตุ๊กหน้าตาน่ารักแบบนี้ให้อยู่คู่เมืองตรังต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยครับ ถ้าจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองตรังส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มักจะไม่พลาดโปรแกรมนั่งรถตุ๊กตุ๊กหัวกบเที่ยวชมเมือง ราคาค่าโดยสารจะเริ่มต้นที่ 15 บาท แล้วแต่ระยะทาง หรืออาจจะเหมาเป็นวันก็ได้ครับ นั่งรถเที่ยวชมเมืองตรังกันจนเหนื่อยแล้ว กลับมาที่พักผมจะมีสิ่งที่พวกเราชื่นชอบมาให้ชมกันครับ มันจะเป็นสิ่งใดไปไม่ได้ นอกจากรถเหล็กนั่นเอง และแน่นอนครับต้องเป็น ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ เท่านั้น



ผู้ผลิตรถเหล็ก ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบ หรือ Daihatsu Midget เจ้าแรกๆ น่าจะเป็น Tomy ซึ่งผลิต Tomica หมายเลข 21 ด้วย อัตราส่วน 1: 50 เริ่มผลิตในปี 1980 จนปัจจุบันก็ยังผลิตอยู่ครับ คันที่นำมาให้ชมกันนี้เป็นรุ่นแรกๆ ที่ผลิตในช่วงปี 1980-1984 มี 2 แบบคือ สีครีม ผ้าใบคลุมกระบะสีดำ และสีฟ้า ผ้าคลุมกระบะสีครีม (ผ้าคลุมถอดออกจากกระบะได้) กระจกใส ภายในสีแดง ใต้ท้องโลหะ มีข้อมูลรถเหล็ก โลโก้ Tomica, No.21, S1/50 Daihatsu Midget, C.Tomy, Made in Japan






รถเหล็ก Tomica หมายเลข 21 ซึ่งเป็นรถตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบคันนี้ได้ผลิตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยมีสีและการพิมพ์ Tempa รวมทั้งการใช้สติกเกอร์แบบต่างๆ อย่างเช่น รถเหล็กคันที่นำมาให้ชมกันนี้ผลิตในราวๆ ปี 2000 เป็น 1 ใน 4 แบบจากรถเหล็กชุด Pokemon ซึ่งผลิตสำหรับจำหน่ายในญี่ปุ่นเท่านั้นโดยได้ลิขสิทธิ์จากเกมส์ Nintendo ตัวรถสีส้ม กระจกใส ภายในสีเขียว มีรถพ่วงสีเขียว มีลวดลายและสีสันสไตส์เกมส์นินเทนโด


รถเหล็ก Tomica ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบอีกคันหนึ่งคือ หมายเลข D16 เป็นรถเหล็ก Daihatsu Midget ที่ผลิตโดยได้รับลิขสิทธิ์จาก Disney ผลิตประมาณปี 2006 ตัวรถสีเหลือง ผ้าใบคลุมกระบะสีเขียว มีลวดลายจากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Chicken Little ไฟหน้ารถสีบรอนซ์เงิน กระจกใส ภายในสีแดง



ครับรถเล็กที่มีสามล้อหน้าตาน่ารักที่ชื่อว่า ตุ๊ก ตุ๊ก หัวกบแบบนี้ นับเป็นรถคลาสสิกของค่ายรถญี่ปุ่นคันหนึ่งเลยทีเดียวครับ ก่อนจะกลับบ้านมีของแถมให้ครับนั้นคือ รถพัฒนาการรุ่นต่อมาของ Daihatsu Midget :ซึ่งเป็นรถหัวกบที่มีตัวอ้วนกว่าเดิมและมีขา 4 ขา คือ Midget II เปิดตัวในฐานะรถต้นแบบในงาน Tokyo Motor Show ปี 1993 เป็นรถ Midget ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ เพิ่มล้ออีก 1 ล้อ กลายเป็นรถ 4 ล้อขนาดจิ๋ว ใช้เครื่องยนต์ 660 cc. สามารถติดเครื่องปรับอากาศได้ มีการผลิตในช่วงปี 1996-2001 ตัวรถจริงเคยเห็นมาวิ่งในบ้านเราอยู่บ้างครับ แถวๆ บ้านผม (ถนนรามคำแหง) ก็เคยเห็นวิ่งอยู่คันหนึ่งครับ น่ารักมากครับ และสุดท้ายก็มีรถเหล็กมาให้ชมกันด้วยครับ เป็นของ Tomica ผลิตในปี 1996 หมายเลข 62 อัตราส่วน 1:50

ก่อนจากกันก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายที่นำมาประกอบ Blog บางภาพเช่น ภาพถ่าย Tuk Tuk ที่เมืองตรัง เช่นคุณ Kohyao คุณ Bugnut

VOLKSWAGEN 1600TL





รถเหล็ก Matchbox Regular Wheels No.67B – Volkswagen 1600TL ผลิตโดย Lesney ในอังกฤษปี 1967 ความยาว 6.9 ซม.

รถเหล็ก VW 1600TL สีแดง (อมส้ม) กันชนหน้า-หลัง ไฟหน้า ไฟหรี่โลหะ ใต้ท้องโลหะ ประตูสองข้างเปิด-ปิดได้ กระจกใส ภายในสีขาว ล้อยางถอดได้ ดุมล้อโลหะ รถเหล็กรุ่นนี้ผลิตออกมาเพียง 2 สี สามแบบเท่านั้น คือ สีแดงมี Rack หลังคาและสีแดงไม่มี Rack หลังคา อีกสีหนึ่งคือสีม่วง สีที่มีราคาสูงคือสีม่วง (ประมาณหมื่นต้นๆ ครับ) เสียดายผมไม่มีครับ รถรุ่นนี้ผลิตในอังกฤษเท่านั้น



Wednesday, 3 September 2008

VOLKSWAGON 1500 SALOON



ผมเอาหนึ่งในรถเหล็กยอดนิยมของนักสะสมทั่วโลกมาฝากกันครับ แน่นอนครับรถรุ่นนี้ราคาสูงขึ้นทุกปีและหายากขึ้นทุกวัน นั่นก็คือรถเหล็ก Matchbox Superfast No.15A Volkswagen 1500 Saloon ผลิตโดย Lesney ในอังกฤษ ปี 1969 ความยาว 7.2 ซม.

รถเหล็กโฟล์กเต่า 1500 คันนี้เป็นล้อ Superfast ยุคแรกสุดของ Matchbox เป็นล้อที่มีลักษณะบาง (หน้าแคบ) ตัวถังเป็นแบบเดิมที่ใช้กับล้อแบบดั้งเดิม (regular) คันนี้สีครีม มีสติกเกอร์หมายเลข 137 สีดำ ติดที่ประตูทั้งสองข้าง กันชนหน้าหลังและใต้ท้องโลหะ บนกันชนหน้ามี Plate ของ Monte Carlo Rally หมายเลขทะเบียนรถหน้าหลังคือ DVB257G กระจกใส ภายในสีขาว มีขอลากด้านหลัง รถเต่ารุ่นนี้ผลิตออกมา 3 สีคือ สีครีม OFF White, แดงเมทัลลิค แต่มีส่วนแตกต่างอื่นๆ เป็น 7 แบบ ราคาใกล้เคียงกันทั้ง 7 แบบ มี Decal (รูปลอกน้ำ) Monte Carlo Rally