Tuesday 28 April 2009

LLEDO - 1954 SCENICRUISER COCA-COLA



ใครที่เคยเดินทางไปอเมริกา คงจะคุ้นเคยกับรถบัสเกรย์ฮาวด์ที่เดินทางระหว่างรัฐต่างๆ ในอเมริกากันดีนะครับ Lledo ก็ไม่รอช้านำมาผลิตเป็นรถโมเดลสำหรับนักสะสม นั่นคือ 1954 Scenicruiser Coca-Cola รถบัสเกรย์ฮาวด์ รุ่นปี 1954 ผลิตในอังกฤษโดยได้รับอนุญาตจาก The Coca-Cola Company ปี 1996 ความยาว 10.1 ซม. ตัวรถโลหะค่อนข้างหนาหนักทีเดียวครับ สีเงิน ล้อ 10 ล้อสีดำ โฆษณา Coca-Cola ข้างรถ กระจกสีชา บรรจุในกล่องออกแบบพิเศษสำหรับรถ Coca-Cola ไม่ค่อยเห็นบ่อยนักครับ หายากครับ ราคาก็แพงขึ้นตามความหายากครับ

Monday 20 April 2009

ตุ๊ก ตุ๊กไทย สัญชาติจีน เชื้อชาติสเปน


งงไหมครับ ที่ตุ๊ก ตุ๊กไทยทำไมถึงมีสัญชาติจีน แถมยังมีเชื้อชาติเสปน ช่วยกันอ่านต่อไปเถอะครับ แล้วจะหายงงหรืออาจจะยิ่งงงมากขึ้น ตุ๊กๆ ในแถบเอเชีย หมายถึง ตุ๊ก ตุ๊ก หรือสามล้อเครื่องแบบที่ใช้กันในบ้านเรา ที่มีเอลักษณ์คุ้นหน้าคุ้นตากันดีแล้ว ยังมีตุ๊ก ตุ๊กล้อเครื่องแบบอื่นอีกหรือ? มีครับ คือมี ตุ๊ก ตุ๊กแบบญี่ปุ่น (แบบที่ใช้ที่จังหวัดตรังและจังหวัดอยุธยา) ตุ๊กๆ อินเดียและตุ๊กๆ อินโดนีเซีย (ที่เรียกว่า Bajaj) ลองดูรูปครับจะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน




รถเหล็ก ตุ๊ก ตุ๊ก ไทยคันนี้ ผู้ออกแบบและเป็นเจ้าของ แบรนด์คือ IXO ซึ่งผลิตให้ Altaya แห่งประเทศสเปน แต่ไปผลิตในประเทศจีน ปี 2007 เป็นรถเหล็กที่มีสเกล 1:43 มีความยาว 6.8 ซม. กว้าง 3.1 ซม. สูง 4.2 ซม. ที่ฐานวางรถระบุว่า Tuk Tuk. Bangkok.1980 ซึ่งหมายความว่า ต้นแบบรถเหล็กตุ๊ก ตุ๊ก คันนี้เป็นรถเหล็กที่ออกแบบตามรถ ตุ๊ก ตุ๊ก ที่ใช้ในกรุงเทพช่วงปี 1980 ซึ่งมีความแตกต่างจากตุ๊ก ตุ๊ก
ในยุคปัจจุบัน (ปี 2008) เล็กน้อย เช่น ไฟหน้าบางคันเป็นไฟเหลี่ยม ที่ปัดน้ำฝนอยู่ตอนล่างของขอบกระจก รุ่นปัจจุบันมีถังแก๊สอยู่ด้านหลัง แบตตารี่อยู่คนละด้าน ป้ายทะเบียนอยู่คนละตำแหน่ง ฝาท้ายรถบางคันจะไม่ปั๊มนูน “Thailand” ลายเหล็กดัดบริเวณที่นั่งผู้โดยสารจะแตกต่างกัน



เมื่อเปรียบเทียบกับรถเหล็กด้วยกัน รถเหล็กตุ๊ก ตุ๊ก ของ IXO คันนี้ มีลักษณะแตกต่างจากรถตุ๊ก ตุ๊ก ทั่วไปที่ขายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน (ยี่ห้อ SS) หลายอย่างนะครับ ดังตารางเปรียบเทียบ



เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ตุ๊ก ตุ๊ก IXO จะมีความเหมือนจริงและสัดส่วนที่สวยงามกว่า มีลักษณะที่เป็นโมเดลมากกว่าจะเป็นของเล่นของแบบที่ขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดตรา SS ใต้ท้องโลหะของ IXO จะมีลายช่วงล่างและเครื่องยนต์ที่เหมือนจริงกว่า รวมทั้งสีสัน เช่นหลังคาผ้าใบจะมีสีดำ เบาะนั่งถูกสัดส่วนสีน้ำตาล ดุมล้อสีแดง ป้ายทะเบียนสีเหลือง และที่สำคัญคือ ป้ายทะเบียนที่มีข้อความเป็นภาษาไทย ซึ่งน่าจะเป็นรถเหล็กคันแรกที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่มีป้ายทะเบียนรถพิมพ์ Tempa เป็นภาษาไทย “กรุงเทพมหานคร” นอกจากนั้นก็จะมีรายละเอียดต่างๆ ที่ทำให้รถเหล็กตุ๊ก ตุ๊ก คันนี้ดูเหมือนจริง เช่น กล่องไฟ Taxi เสาประดับธง ก้านปักน้ำฝน





โดยสรุปรถเหล็ก ตุ๊ก ตุ๊ก IXO คันนี้น่าจะเป็นรถตุ๊กๆ ไทย ที่สวยงามที่สุดคันหนึ่งที่มีขายในตอนนี้ ท่านใดที่มีรถเหล็กตุ๊ก ตุ๊ก ไทย คันอื่น นอกเหนือจากสองคันนี้ ก็ลองเอามาอวดกันบ้างนะครับ

Thursday 2 April 2009

HUSKY - VOLKSWAGEN TOWER TRUCK



เอารถของ Husky มาให้ดูอีกคันครับ คันนี้เป็นรถเหล็ก Husky (Corgi) No.12A – Volkswagen Tower Truck (Husky เป็นชื่อที่ใช้เรียกรถเหล็กขนาดเล็ก ประมาณ 1:72 ของ Corgi ในช่วงปี 1964-1969 และต่อมาในปี 1970 ก็เปลี่ยนไปใช้ชื่อ Corgi Junior) ผลิตโดย Mattoy Co.,Ltd. ใน Great Britain ปี 1964 ความยาว 6 ซม. สูง 3.4 ซม. เมื่อยืดตัวหอคอยสูงสุดจะสูง 4.9 ซม.

รถเหล็กกระบะ Volkswagen Tower Truck สีเหลือง ตัวหอคอยสีแดง ยกขึ้นลงได้และชั้นบนสุดหมุนได้ 360 องศา กระจกสีฟ้า ใต้ท้องและกันชนโครเมี่ยม ล้อและแกนล้อแบบธรรมดา (เทียบเท่ากับล้อ Regular ของ Matchbox, ล้อ Whizzwheels ของ Corgi เทียบเท่ากับ Superfast Wheels ของ Matchbox) รถเหล็กรุ่นนี้ Mattoy ผลิตออกมาเพียงสีเดียว แบบเดียว ในอังกฤษเท่านั้น

VW CONVEYOR TRUCK ของ HUSKY




พอพูดถึง Husky หลายคนอาจจะไม่คุ้นเท่าไร จริงๆ แล้ว Husky เป็นชื่อรถ Corgi Juniors ที่ใช้ในช่วงปี 1964-1969 สังเกตได้ง่ายๆ ว่าล้อจะคล้าย Regular Wheels ของ Matchbox ครับ สำหรับคันที่ผมเอามาให้ดูนี้เป็น Husky No.32A ที่ชื่อ VW Conveyor Truck เป็นรถสายพานโฟล์ก ผลิตในประเทศอังกฤษปี 1966 ความยาว 7.8 ซม. ตัวรถสีขาว โครงสายพานสีฟ้า ใต้ท้องเป็นโครเมี่ยม คันนี้อายุกว่า 40 ปีแล้วครับ หายากด้วยครับ

Thursday 19 March 2009

ย้อนเวลาหาอดีตกับรถ DELOREAN ใน BACK TO THE FUTURE

บางคนอาจคิดว่ารถคันนี้เป็นรถที่มีเฉพาะในภาพยนตร์เรื่อง “Back to the Future” เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว รถรุ่นนี้เป็นรถที่มีการผลิตขึ้นมาจริงๆ ครับ นั่นก็คือรถ Delorean DMC-12 เป็นรถยนต์สปอร์ตที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ รถคันนี้เป็นรถที่ผลิตขึ้นมาในวงจำกัดมากๆ ถ้าหากว่า Robert Zemeckis ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่นำรถ Delorean มาใช้เพื่อเป็นเครื่องจักรสำหรับเดินทางย้อนยุคหรือล้ำยุคไปในช่วงปี พ.ศ.ต่างๆ ได้เป็นว่าเล่น คนทั่วๆ ไปอาจไม่รู้เลยว่า เคยมีรถรุ่นนี้อยู่ในโลกก็ว่าได้
รถสปอร์ต Delorean รุ่น DMC-12 นับเป็นรถล้ำยุค ในยุค ’80 และผลิตโดย Delorean Motor Company ก่อตั้งโดย John Delorean ในปี 1975 John เป็นผู้ที่คลั่งไคล้หลงใหลในรถสปอร์ตเป็นอย่างมาก มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะผลิตรถสปอร์ตชั้นยอดของโลกขึ้นมาให้ได้ รถต้นแบบ DMC-12 ร่างขึ้นในปี 1976 และเริ่มต้นผลิตจริงในปี 1981 ที่โรงงานในเมือง Dunmurry ไอร์แลนด์เหนือ, DMC-12 ถูกผลิตออกมาเพียง 9,000 คัน และหยุดการผลิตในปลายปี 1982 เนื่องจากประสบกับปัญหาด้านเงินทุน และที่แปลกก็คือ ปัจจุบันชิ้นส่วนต่างๆ ของรถรุ่นนี้ยังคงมีอยู่ครบทุกชิ้น ถ้าคุณมีเงินก็สามารถสั่งให้โรงงานประกอบได้ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ US$ 57,000 (ใช้ในส่วนเดิมประมาณ 80%)
Dolerean DMC-12 เป็นรถที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเช่น ตัวถังรถทำด้วยสแตนเลสจะไม่มีการพ่นสี (แต่ผู้ที่ซื้อไปมักจะนำไปพ่นสีเกือบทุกราย) เราจะไม่เคยเห็นรถรุ่นนี้สีอื่นๆ เลย นอกจากสีบรอนซ์เงิน หรือไม่ก็สีโลหะ ตัวรถออกแบบโดย Giorgetto Giugiaro แห่งสำนักออกแบบ ITAL Design ในอิตาลี
เอกลักษณ์อีกอย่างของรถ DMC-12 คือประตูแบบปีกนกที่คล้ายกับ Mercedes 300 SL ตัวรถทำด้วยเหล็กกล้าและไฟเบอร์กลาส มีโครงรถแบบ Monocoque รูปตัว Y ใช้เครื่องยนต์วางด้านหลัง ขนาด 2,849 cc V6 กำลัง 170 แรงม้า ระบบ Disc Brake ทั้ง 4 ล้อ (นับว่าล้ำหน้าในยุค ’80) น้ำหนักรถ 1,230 กิโลกรัม ราคาเมื่อแรกจำหน่ายในปี 1981 คือ 12,000 US$
ที่นี้มาคุยกันถึงเรื่อง Delorean DMC-12 ในหนัง Back To The Future กันบ้างครับ หนังเรื่องนี้ผลิตออกมาทั้งหมด 3 ภาค (ปี 1985,1989,1990) แต่ละภาค DMC-12 ก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย แต่ยังคงใช้รถหน้าตาแบบเดิม เช่นในภาค 2 และ 3 เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ของ Porsche รถที่ใช้ในการถ่ายทำทั้งหมดมี 6 คัน
Back To The Future ภาคแรกสร้างในปี 1985 กำกับการแสดงโดย Robert Zemeckis แสดงนำโดย Michael J.Fox (แสดงเป็นเด็กหนังวัย 17 ปี Marty Mcfly) และ Christofer Lloyd (แสดงเป็นศาสตราจารย์บราวน์ หรือ Doc) ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์ Time Machine ซึ่งก็คือ Delorean DMC-12 นั่นเอง
เนื้อเรื่องในภาค 1 Marty เพื่อนต่างวัยของ Doc ได้เดินทางย้อนยุคไปในอดีตเพื่อช่วยเหลือชีวิตรักของพ่อและแม่ของ Marty
ส่วนภาค 2 นั้น Doc และ Marty เดินทางล้ำยุคไปในปี 2015 รถ DMC-12 ในภาคนี้ล้อรถจะพับและเหาะได้
ภาค 3 ของ Back to the Future Marty เดินทางย้อนอดีตไปในปี 1885 เพื่อช่วยเหลือ Doc ให้กลับมาสู่ปี 1985 รถ DMC-12 ภาคนี้จะวิ่งบนรางรถไฟได้ด้วย
หลังจากภาพยนตร์ภาค 3 จบลงมีผู้สะสมรถเหล็ก ต้องรออีกเกือบ 10 ปีถึงจะมีผู้ผลิตรถเหล็กได้รับลิขสิทธิ์ให้ผลิตได้ (ในช่วงเวลาเกือบ 10 ปีนั้น ก็จะมีแต่ของเล่นพลาสติก, Fast Food Toy, Model พลาสติก ผู้ผลิตรถเหล็ก Back to the Future รายแรกๆ น่าจะเป็น Corgi ผลิตในปี 2001 เป็นรถเหล็กในภาค 1 อัตราส่วน 1:36 ประตูปีกนกเปิด-ปิดได้ มี Figure โลหะของ Doc ด้วย จากนั้น Universal Studio ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นก็ผลิตรถเหล็กออกมาทั้ง 3 ภาค มีขนาด 1:43 เล็กกว่าของ Corgi เล็กน้อย
รถเหล็กภาค 1 ของ Universal Studio น่าจะผลิตในช่วงปี 2002 มีลวดโลหะด้านท้ายเป็นตัวรับคลื่นไฟฟ้า คล้ายกับของ Corgi ส่วนภาค 2 ล้อจะพับแบนราบทั้ง 4 ล้อ (Time Machine ในปี 2015 ล้อจะพับเก็บขณะที่กลายสภาพเป็นรถเหาะ) ส่วนภาค 3 บนฝากระโปรงหน้า จะมีแผงวงจรไฟฟ้าขนาดใหญ่วางอยู่ ใต้ท้องรถ ส่วนใหญ่แล้วรถเหล็ก Back to the Future ทั้ง 3 ภาค ของผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน เพียงแต่อาจมีขนาดต่างๆ กัน หรือรถเหล็กภาค 3 ของบางผู้ผลิตจะวางล้อรถลงบนรางรถไฟตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ ผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ผลิตรถเหล็ก Back to the Future เช่น Hot Wheels ผลิตทั้ง 3 ภาค มีขนาดเล็ก 1/72 ผลิตในปี 2001 โดย Mattel Inc. Vitesse ผู้ผลิตรถเหล็กสัญชาติโปรตุเกส ผลิตรถเหล็ก Back to the Future ภาค 1 มีขนาด 1/43 ผลิตปี 2005
ผู้ผลิตรถเหล็กในปัจจุบันในท้องตลาด ที่ผลิตรถ Back to the Future ทั้ง 3 ภาค คือ Sun Star ผลิตรถเหล็กอัตราส่วน 1/18 (part 3 ของ Sun Star อยู่บนรางรถไฟ)
นอกจากนี้ก็ยังมีของ Welly ผลิตทั้ง 3 ภาคเช่นกันขนาดอัตราส่วน 1/24 ส่วนโมเดลรถ Delorean DMC-12 ธรรมดาที่ไม่ใช่รถ Back to the Future ก็มีเหมือนกันครับ ผลิตโดย Welly อัตราส่วน 1/24 ครับ

Monday 16 March 2009

รถบัสแห่งลอนดอน



ใครที่เคยไปอังกฤษจะต้องคุ้นหน้าคุ้นตากับรถบัสสองชั้นที่วิ่งไปมาทั่วกรุงลอนดอนอย่างโมเดลคันนี้เป็น รถเหล็ก Matchbox Regular Wheels No.5B – London Bus ผลิตในประเทศอังกฤษ ปี 1957 ความยาว 5.6 ซม. ตัวรถสีแดง ใต้ท้องโลหะ ล้อพลาสติกสีเทา สติกเกอร์ “Buy Matchbox Series” รถรุ่นนี้ยังเป็นรุ่นที่ไม่มีกระจก แฟนๆ Matchbox ไม่ควรพลาดครับค่อนข้างหายาก แต่ถ้าใครอยากได้ คันนี้มีนักสะสมจากประเทศอังกฤษมาขอซื้อไปแล้ว เขาคงสงสัยว่าหลงมาอยู่ในประเทศไทยได้ยังไง ต้องเอากลับอังกฤษดีกว่า555

รถดัมฟ์ QUARRY TRUCK



รถดัมฟ์คันนี้เป็นรถเหล็ก Matchbox Regular Wheels No.6B – Quarry Truck ผลิตจากประเทศอังกฤษปี 1957 ความยาว 6.35 ซม. สีเหลือง ล้อดำ สภาพดีมากครับเมื่อเทียบกับอายุ 50 ปี ที่จริงน่าจะมี Sticker ข้างประตูรถ แต่เป็นไปได้ว่าการส่งไปขายบางประเทศอาจไม่มี Sticker ก็ได้ครับ รถรุ่นนี้ยังไม่มีกระจกครับ สภาพนี้สวยมากครับ